มาเรียนหมากล้อมกับนักหมากล้อมระดับ 4 ดั้ง(ไทย) 7 ดั้ง Nihon Kiin ญี่ปุ่น พี่เสือนักหมากล้อมระดับ 4 ดั้ง(ไทย) 7 ดั้ง Nihon Kiin ญี่ปุ่น

โจทย์เป็นตาย หรือ Life and Death Problems



โจทย์เป็นตาย หรือ Life and Death Problems หมายถึงตัวอย่าง หรือรูปของหมาก ที่เป็นโจทย์ หรือปัญหา ให้แก้ ว่ารูปหมากนั้นๆ สามารถฆ่า หรือรอด หรือควรเล่นอย่างไรให้ดีที่สุด


ผู้เรียนหมากล้อม จะต้องเคยเห็น เคยเจอโจทย์เหล่านี้ไม่มาก ก็น้อย แก้โจทย์เหล่านี้มามาก หรือน้อยแตกต่างกันไป บางคนอาจเคยทำโจทย์หลายพันข้อ ซึ่งโจทย์จะมีระดับความยากง่าย เพื่อให้เหมาะกับแต่ละระดับฝีมือ


ส่วนใหญ่การทำโจทย์ มักจะน่าเบื่อ เนื่องจากมีเยอะ และยาก การทำโจทย์แรกๆ อาจะท้าทาย นานเข้าก็จะน่าเบื่อ ทำใหผู้เรียนที่ไม่มุ่งมั่น หรืออดทนมักจะเลี่ยง และกลับไปเน้นในการเล่นเกมแทน


โจทย์เหล่านี้มีประโยชน์จริงหรือไม่ ในการเล่น คำถามนี้มักเกิดขึ้นตลอด และทุกคนก็เช่นว่า แน่นอนการทำโจทย์ย่อมช่วยให้การเล่นดีขึ้น เพราะโจทย์เหล่านี้ส่วนใหญ่ จะเป็นรูปที่เกิดขึ้นจริง หรือมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก การได้วิเคราะห์ หรือเห็นก่อน ทำให้สามารถเลือกเล่นได้ดีขึ้น เมื่ออยู่ในสถานการณ์จริง อีกทั้งยังช่วยสร้างแนวคิด หรือรูปแบบในการแก้ไขปัญหา ได้อย่างรวดเร็ว ดีกว่าการมาวิเคราะห์ ในขณะแข่งขัน ยิ่งในปัจจุบันการแข่งมักให้เวลาค่อนข้างน้อย ถึงน้อยมาก การเสียเวลาอ่านหมากนานๆ อาจทำให้หมดเวลาได้


การบังคับ การทำโจทย์ มักทำให้เด็กเล็ก ง่ายกว่าเด็กโต โดยธรรมชาติ ถึงเด็กเล็กจะงอแงบ้าง ถ้าควบคุมดีๆ มีการให้รางวัล หรือลงโทษบ้าง ยังพอทำให้ทำโจทย์ได้ ซึ่งจะง่ายกว่าการบังคับเด็กโต ดังนั้นถ้ามุ่งหวังให้เด็กเล่นหมากล้อม ให้ได้ดีในอนาคต ควรเข้าใจความจำเป็นในการทำโจทย์ และบังคับให้ทำตั้งแต่ต้นๆ จนเป็นนิสัย


ในการแนะนำเกม หรือ Comment ก็คือการแก้ไข สิ่งที่วางหมากผิดพลาด หรือไม่ดี หลายส่วนก็คือการปัญหาที่อยู่ในโจทย์นั้นเอง หลายครั้งผู้เล่น ไม่ได้อ่านว่ารูปนี้ตาย หรือรอด ถ้าตาย แล้วไม่ได้เข้าไปฆ่าก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้แต้ม หรือถ้ารอดแล้ว ยังเข้าไปฆ่า ทำให้รูปหมากในส่วนอื่นเปลี่ยนแปลง อาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามแข็งแรงขึ้น จนไม่สามารถฆ่ากลุ่มอื่นได้ ซึ่งการ Comment จะได้โจทย์เพียงข้อเดียว และเสียเวลาผู้สอนในการอธิบาย แต่ถ้าผู้เล่น ทำโจทย์มาแล้ว จะทำให้ Comment ไปได้อย่างรวดเร็วเร็ว และสามารถให้เวลา กับกำลังในการเรียนรู้จุดที่ยังเดินไม่ดีอื่นๆ


การทำโจทย์ ควรต้องพิจารณาความยากง่าย ให้เหมาะกับระดับฝีมือผู้เรียน รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายของโจทย์ด้วย นอกจาก โจทย์เป็น ตาย ยังมีโจทย์อื่นๆ อีกมาก เช่น โจทย์ท้ายเกม โจทย์หมากเด็ด เป็นต้น


ท่านผู้รู้อื่น หากเห็นด้วยหรือเห็นต่างประการใด ในประเด็นนี้ สามารถแบ่งปัน ความรู้ หรือความคิดเห็นร่วมกันได้ เพราะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน โดยผมเองไม่ยกตนเป็นผู้รู้ หรือผู้เชี่ยวชาญใดๆ เพียงต้องการยกข้อสังเกตุต่างๆ เพื่อให้ผู้รู้ทั้งหลายได้ร่วมแสดงความคิดเห็น


ขอบคุณ





0 ความคิดเห็น